Support
กางเกงยีนส์ มือหนึ่ง ขายส่ง
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ตำนานกางเกงยีนส์

svcd9ads@gmail.com | 12-07-2555 | เปิดดู 14483 | ความคิดเห็น 0

 คำเตือน การใช้ภาษาในบางคำ เป็นสำนวนของผู้เขียนเดิม

เพื่อความมันส์ในการอ่าน ขอใช้สำนวนเดิมครับ

 

 

มันเป็นโคตรของความจริง ที่ถูกค้นพบบนถนนแห่งกาลเวลาที่เปื่อยยุ่ยย่นยับมานานว่า เข็มนาฬิกาบนโลกของแฟชั่น 

ไม่เคยหยุดความเคลื่อนไหวแม้สักนาที มันถีบตัวเองและหมุนเฟืองเครื่องจักร ไปตามโครงสร้างและสีสันแห่งอารยธรรมในป่าคอนกรีต 

 

จากแรกเริ่มของใบหน้าประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ลงมาจากต้นไม้และรู้จักการโกนขนรุงรังแบบลิงทิ้งไป

และรู้จักการหาใบไม้มาปกปิดอีปี๊กับไอ้เจี๊ยว (สองตัวการสรีระแห่งความยุ่งเหยิงของมนุษย์ในเวลาต่อมา) 

พลิกผันควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการ มาสู่ความล้ำยุค ล้ำสมัย เพื่อที่จะค้นพบว่า แฟชั่นที่เคยเจิดจรัสอยู่บนถนนยุคนั้น 

มันถูกส้นตีนแห่งความทันสมัยเตะกลิ้งตกเวทีประวัติศาสตร์ไปเมื่อวานนี้

 

ขณะที่ดีไซน์เนอร์ทั้งหลายกำลังกังวลกับคำถามว่า

วันพรุ่งนี้ ตัวตนแฟชั่นจะผันผาดตัวเองไปในทิศทางใด

 

งานออกแบบแฟชั่น เป็นงานปวดกบาล เพราะต้องอาศัยการคาดคะเนอารมณ์คนสวมใส่กันตลอดเวลา 

ถ้าการออกแบบเสร็จสมอารมณ์หมาย นั่นหมายความถึง เงินค่าตอบแทนเชิงพาณิชย์แพร่สะพัด 

วัยรุ่นเดินสวมใส่มันกรีดกรายอวดกันบนท้องถนนบนศูนย์การค้าแหล่งบันเทิง

และแน่นอน ในยุคคอมพิวเตอร์ มันย่อมเดินทางไปถึงบ้านโคกอีแหลวอย่างไม่ต้องสงสัย

แฟชั่นยีนส์เอวต่ำวินาทีนี้ อีนาง อีหล่าจากบ้านหนองแมงกุดจี่ ใส่อวดบักหำโต้นให้รู้สึกวาบหวิวกับความต่ำของมัน

เพราะเหลือไม่ถึงครึ่งนิ้วจะเห็นขนอีปิ๊!!

 

แต่ถึงแม้ความหลากแหลายของแฟชั่น จะบิดผันไปสู่ความนิยมมิติใดก็ตาม 

“ยีนส์” คือสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา ยีนส์อาจเป็นแฟชั่นบ้างในบางวาระที่ผู้คนเบื่อหน่ายผ้าปกติ 

แต่เหนืออื่นใด ยีนส์ไม่เคยตาย มันมีวิญญาณคล้าย “Rock n Roll Can Never Die” 

มันเป็นผิวหนังอมตะชิ้นที่สองของมนุษย์ มันห่อหุ้มเปลือกโลกชั้นนอกเอาไว้เหนียวแน่น ผูกขาดไม่มีใครกล้ายึดครอง

 

ยีนส์ ยีนส์ ยีนส์

มันมาจากไหนกันแน่ 

 

 

 

และใครเป็นคนแรกที่อุตริเอาผ้าที่มีเนื้อแข็งโด๊กหยาบเป็นหนังตีนมาตัดเย็บเป็นกางเกง 

และห่ากิน!!บัดซบที่สุด!! มันเสือกได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว 

 

จากความแข็งกลายมาเป็นความแกร่ง ทรหด อดทน บึกบึน 

และต่อมามันกลายเป็นกางเกงที่ข่มรัศมีแฟชั่นอื่นอย่างเย้ยหยันและไม่มีใครคาดคิดว่า มันจะกลายเป็น “วัฒนธรรม” ที่ทำรายได้มหาศาล 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกันชน ผู้เป็นเจ้าของยีนส์อมตะอย่าง Levi’s

 

 

หลายบรรทัดถัดมา นี่คือประวัติศาสตร์บางหน้าของอเมริกา

มลรัฐคาลิฟอร์เนีย วันที่ 24 มกราคม 2391 (1848)

ช่างไม้คนหนึ่งชื่อ James W.Marshall หมอกำลังสาละวนอยู่กับการตอกไม้โป๊กเป๊ก แต่ต้องหยุดการตอกเอาไว้ 
เพราะปวดฉิ๊งฉ่องกระทันหัน จึงเดินลงไปข้างลำธาร เสร็จสมอารมณ์หมายบนปลายลึงค์ 
บิดขี้เกียจอีกสองที 
ช่วงจังหวะบิดขี้เกียจ มีแสงหนึ่งแปล่บเข้าชนสายตา แสงนั้นแว่บมาจากหินก้อนหนึ่งซึ่งวางตัวนิ่งสนิทอยู่ข้างลำธาร 
นายเจมส์สงสัยอย่างหนักว่า แสงจากก้อนหินนั้น มันมาได้อย่างไร เดินดุ่มไปหยิบขึ้นมาดู ควักผ้าเช็ดหน้าออกจากกระเป๋า
เฮ้ย เว้ย หินประหลาดก้อนนั้นเปล่งประกายวาววับ 
ความรู้สึกลิงโลดกระโดดถลันเข้ามาแทนที่ แกตะโกนอย่างบ้าคลั่ง
 
 
 
“ทองโว้ย ทอง ทองคำ ที่นี่มีทองคำ พวกเราจะรวยกันแล้วโว้ย....”
 
 
อันที่จริง นายเจมส์น่าจะอุบไว้เงียบๆคนเดียว ไม่ค่อยฉลาดเล้ย แต่อย่างว่าแหละนะ คนยุคนั้น ยังไม่มีจิตใจเล่ห์เหลี่ยมสกปรกเหมือนทุกวันนี้ 
ช่างไม้อย่างนายเจมส์ยิ่งพาซื่อ
ข่าวการค้นพบทองคำ แพร่สะพัดออกไปราวไฟไหม้ป่า การเดินทางของข่าวรวดเร็วการเดินทางของแสงและปีศาจ 
เมืองซานฟรานซิสโกที่เคยทรงตัวเหนื่อยหน่าย กลับยืนทะลึ่งขึ้นสุดตัว
ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ตามอำนาจปรารถนาความร่ำรวยบนประกายทองคำ 
หมู่บ้านย่อมๆกลายเป็นเมืองในชั่ววิบตา ป่าเขียวชะอุ่มถูกปรับถางโค่นล้มเพื่อยึดเป็นพื้นที่หาทองคำ 
ภูเขาถูกโค่นลงให้เหลือเท่าจอมปลวก ผู้คนดั้นด้นมาไม่ขาดสาย เพื่อแสวงโชคที่มองไม่เห็นตัวตน
 
 
ทุกคนแบกเหลี่ยมคูมาเต็มคัน เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิงของการทรยศหักหลัง เลือด ความตาย เป็นสิ่งที่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
หลายฉากถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟลิ์ม 
แต่ใช่ว่า ใครก็ตามที่ดั้นด้นมาแสวงโชคที่ซานฟรานซิสโกจะสมประสงค์ในองค์ทอง!!
 
 
ในความอลหม่านของผู้คนนับหมื่น หลายคนอับโชค หลายคนพบกับไข้ป่าและนอนรอความตายอย่างทรมาน 
หลายคนร่างกายถลอกปอกเปิกจากคมหินและเสี้ยนไม้ มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่โชคดี แต่อำนาจทองมันมีมนต์ขลังประหลาด 
มันไม่สามารถหยุดให้ผู้คนถอยหลังกลับ คนมาใหม่ก็ยังพกความหวังประกายเรืองรอง 
ขณะที่คนเก่ายังไม่พบทองแม้สักก้อนเดียว หรือคนที่ค้นพบก็ถูกเล่ห์เหลี่ยมนายทุนเอาเปรียบ
 
 
การค้นหาล่าทองคำในหลืบหินบนภูเขาดำเนินมาจนถึงปี 2393 (1850)
พ่อค้าบางคน ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น เขาไม่มีทองคำ แต่เป็นเจ้าของร้านกาแฟ แต่รับซื้อทองไปขายต่อ อำนาจของทอง 
ทำให้การค้าขายของที่นี่ “แพง” ทุกอย่าง 
อาหารมื้อกลางวันของนักร่อนทองที่จะต้องซื้อกินไม่ต่ำกว่า 40 เหรียญ มัน มันเป็นการค้ากำไรเกินควรที่มือกฏหมายไม่อาจแตะต้อง 
ของที่นี่ทุกอย่างจะต้องแพงระยำสถานเดียว!!
ไข่โหลละ 6 ถึง 12 เหรียญ
ดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 8 จนถึง 15 ต่อเดือน 
เหล้าพื้นเมือง คว้อร์ทละ 25 เหรียญ 
ยาแก้ไข้ป่าเม็ดละ 1 เหรียญ 
นมสดคว้อร์ทละ 1 เหรียญ 25 เซ็นท์ 
ถั่วต้มจานละ 1 เหรียญ 
มันหัวละ 50 เซ็นท์ 
แพทย์เยี่ยมไข้ที่บ้านคิดค่าเปิดล่วมยาครั้งละ 1 ร้อยเหรียญ 
 
ขอโทษ!! ข้าวโพดบางฝักอาจจะแพงกว่าทองคำ
 
 
มันเป็นความจริงบางด้านที่ขมขื่น หลายคนพบว่าตัวเองเดินทางมาหาหลุมฝังศพ ดิ้นทุรนมาเผชิญความทุกข์เข็ญ 
มีชีวิตอยู่บนพายแห่งการกรรโชกเอารัดเอาเปรียบ การปล้นสะดมภ์ และเดินหมิ่นเหม่อยู่ริมขอบอบายมุขทุกวินาที!! 
และทองคำที่หามาได้ด้วยความยากลำบากเหลือแสน มันหาได้มีค่าเท่าที่ควรจะมี 
 
ถึงชีวิตมันจะบัดซบยังไง ราคาการจ่ายจะแพงระยำยังไง แต่พวกเขาก็ร่อนทองจากภูเขากันได้แทบทุกวัน
การมองเห็นโชคอยู่เบื้องหน้า ดูเหมือนทุกคนไม่แยแสต่อความแพงและความตาย!!
ทองเท่านั้นที่เขาต้องการ
 
 
แม้เพียงก้อนเท่าหัวแม่โป้งตีน มันก็หมายถึงความหวังเรืองรองของชีวิต ความฝันที่จะได้เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ 
ห่าจิกดาก!! 
ใครมันก็อยากมีชีวิตที่ดีกันทั้งนั้น ทองคือเป้าหมายสูงสุดเมื่อมาถึงที่นี่
 
 
ในรายละเอียดของนักร่อนทอง สิ่งที่ทำให้พวกเขาหงุดหงิดคือ ไม่สามารถหาเสื้อและกางเกงที่แข็งแกร่งบึกบึน 
ใส่ตะลุยสู้กับคมหิน ฝุ่นดิน โคลนตมเกรอะกรัง เสี้ยนไม้และหนามไหน่มันทิ่มแทงแข้งขาผ้ากางเกงขาดแคว่ก 
ที่มีอยู่บนก็หาความทนทานได้ยาก มันเป็นเพียงผ้าลูกฟูกที่พวกคาวบอยแนะนำให้ใส่เท่านั้น 
เพราะไม่มีอะไรให้ใส่ที่ดีมากไปกว่านี้อีกแล้ว มันทนทานกับแสงแดด แต่กับคมหินมันเหมือนใยแมงมุม 
และไม่นานเกินกว่าหนึ่งเดือน มันเปื่อยกรุย ซึ่งต้องหาซื้อหา ราคาตัวละแพงบรรลัยจักร
 
 
Levi Strauss 
 
 
บ่ายวันหนึ่ง แดดร้อนละลายเจียนคลั่ง ผิวหนังเกือบจะสุก กระทาชายนายหนึ่งนามว่า Levi Strauss 
เขาเป็นหนึ่งในนักขุดทองเรือนหมื่นที่กำลังคร่ำเคร่งกับการเพ่งมองหาก้อนหินนำมาร่อนเอาทอง 
ความหงุดหงิดของเขาก็เหมือนกับความหงุดหงิดของใครหลายคน คือการไม่มีกางเกงที่แข็งแกร่งใส่ลุยหาทองคำ
 
 
ฉับพลัน สายตาของเขาฉากแว่บไปที่เตนท์ผ้าใบสีน้ำเงินเข้ม ที่เขาอุตส่าห์หอบข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากเมืองบาวาเรีย (ลีวายเป็นชาวบาวาเรี่ยน) 
โดยหวังว่า จะขายผ้าเตนท์ให้กับพวกคาวบอยที่อาจจะมีความจำเป็นใช้คลุมรถม้า ทำเตนท์ที่พัก 
หรือกระทั่ง ดัดแปลงให้มันเป็นถุงใส่เครื่องไม้เครื่องมือในการขุดทอง มันคือเตนท์ผ้าใบที่เรียกกันว่าผ้า เดนิม (Denim)
 
 
แต่ผ้าเดนิมของนายลีวายมันขายไม่ออก 
พวกคาวบอยให้เหตุผลว่า มันแข็งเกินไป ยากแก่การพับเก็บ 
และมันซักโคตรยากฉิบหาย บิดแต่ละทีมือไม้มันอ่อนเปลี้ย
 
นายลีวายบอกกับตัวเองว่า ลองเอามันมาทำเป็นกางเกงคงจะเข้าท่า ถึงมันจะแข็ง 
แต่ความทนทานของมันน่าจะชนะใจนักขุดทอง
 
 
วันถัดมานายลีวายตัดสินใจไม่ขุดทอง เขาหอบผ้าเดนิมตรงเข้าไปในเมืองซานฟรานซิสโก 
โยนผ้าหนาเตอะกองลงตรงหน้าช่างเย็บผ้าร้านข้างถนนโกโรโกโส
ชื่อนายจาคอบ เดวิส( Jacob Davis ) จากรัฐเนวาดา
 
“ ถ้าแกมีฝีมือในการตัดเย็บจริง ลองเอาผ้าเตนท์นี่ ตัดเป็นกางเกงดูซิ 
ถ้าแกทำสำเร็จ แกอาจจะเป็นช่างเย็บผ้าคนแรกที่พิสดารที่สุด 
ที่สามารถเอาชนะความหนาและแข็งโป๊กของผ้าห่าเหวนี่ได้ 
ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน สูบกัญชาไป คิดไป ส่วนราคาค่าตัดเย็บไม่ต้องห่วง 
กันร่อนทองได้เกือบทุกวัน สัปดาห์หน้ากันจะแวะมา เอาค่าดีไซด์ล่วงหน้าไปก่อนไหม”
 
ช่างเย็บผ้าผมกระเซิงส่ายหน้า แต่เขาสงสัยว่า ไอ้หมอนี่ มันเกิดอุตริอะไรขึ้นมา 
แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า เออ อืมม์ ความคิดมันก็บ้าดีว่ะ เอาล่ะในเมื่อมันบ้า กูก็บ้าได้เหมือนกันว่ะ
 
 
สัปดาห์ถัดมา กางเกงของนายลีวายก็ปรากฏโฉม โดยเขาลงทุนใส่เป็นนายแบบเอง
 
“เฮ้ สหาย กางเกงนายแม่งเท่โคตรโคตร ได้มาจากไหนวะ ขอซื้อสักตัวซี มีอีกรึเปล่า ถ้ามีกันสั่งสองตัว เพื่อนกันอีกคนมันคงชอบแน่....” 
บรรดานักร่อนทองต่างสนใจกางเกงทรงใหม่ ผ้าหนาเตอะของนายลีวายกันเข้าให้แล้ว
มันกลายเป็นแฟชั่นสุดเท่ของนักขุดทอง และความนิยมแพร่สะพัดไปในเวลาอันรวดเร็ว
 
 
นายลีวายเลิกขุดทอง หันมาใส่ใจในกิจการการตัดเย็บกางเกงอย่างเดียว 
นักขุดทอง เรียกกางเกงของเขาว่า “กางเกงของนายลีวาย” 
เขาเลยตัดสินใจใช้ชื่อของเขาแทนยี่ห้อกางเกง
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1873 สเตราท์ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรขึ้น ถือเป็นวันกำเนิดกางเกงยีนส์ลีวาย
และตั้งชื่อว่า "ลีวาย" ( Levi's )
 
 
Levi’s Strout
หนาเตอะของเขา มันไม่เพียงแพร่หลายในหมู่นีกร่อนทองเท่านั้น 
มันขยายวงกว้างจากป่าเขาลำเนาไพร กระท่อมผุพัง เต้นท์ผ้าใบคับแคบ ร้านกาแฟริมเชิงเขา ไปสู่ในเมืองอย่างซานฟรานซิสโก 
แม้คนในเมืองบางคน อาจจะยังมีท่าทีประดักประเดิดกับความแข็งของมัน แต่พอใส่ไปสักพัก
 
 
“Fuck Off กางเกงเหี้ยอะไรวะ แม่งกวนตีนสุดๆ 
นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงแห่งทศวรรษแฟชั่นเลยทีเดียว 
ข้าใส่แล้วแม่งเท่อย่างที่ไม่เคยเท่มาก่อนในชีวิต” คนอุทานเป็นซานฟรานซิสกัน 
 
 
นายลีวายปวดกบาลวันละสามเวลา เพราะไม่สามารถตัดกางเกงให้ทันความต้องการของตลาด
เขาตัดสินใจหยุดการร่อนทองและลงมือหาลู่ทางสั่งผ้าเดนิมมาตัดเย็บกางเกงให้เป็นเรื่องเป็นราว 
เขาสั่งผ้าเดนิมมาจากฝรั่งเศส ปกติผ้าสีน้ำเงินนี้ 
ฝรั่งเศสเรียกกันว่าผ้านิมส์ เรียกตามชื่อเมืองที่ผลิตผ้าหนาเทอะทะตัวนี้ 
และชาวเมืองนิมส์จะรู้ว่า ผ้านี้ คนซื้อ ซื้อไปทำเตนท์เพียงอย่างเดียว
 
 
........................................................................................................
 
 
ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ ที่ใดมีการต่อสู้ ที่นั่นมียีนส์
ความภูมิใจของชนชั้นกรรมาชีพ
 
 
แม้ว่า นักร่อนทองซึ่งมีนับเป็นหมื่นๆคนจะชื่นชมกางเกงลีวายส์ของยอดชายนายสเตราท์ 
แต่ด้วยบุคคลิกที่มาจากการคลุกฝุ่นดิน ฝ่าด่านคมหินดินทรายร้อน 
และกำเนิดทรวดทรงองค์เอวของมันก็ไม่ได้มาจากมันสมองของดีไซด์เนอร์ผู้นั่งอาบความเย็นในห้องแอร์ 
และไม่ได้ผ่านสถาบันสอนตัดเสื้อผ้าอันเรอเกือก
 
 
บุคคลิกที่แข็งกร้าวของมัน ตัดกันอย่างรุนแรงกับความอ่อนช้อยของผู้ดีจากราชสำนักยุโรป 
หรือในวงการแฟชั่นชั้นสูงของพวกคุณหญิงคุณนายหรือชนชั้นกลางที่เอะอะก็อ้างว่าตัวเองคือปัญญาชน
 
 
เมื่อครั้งผู้ดีเลือดสีน้ำเงินกลุ่มนั้น โดยเฉพาะในฝรั่งเศส รู้ข่าวว่า นายลีวายส์สั่งผ้าเตนท์เดนิมไปอเมริกาคราาวละมากๆ 
พวกเขาสงสัยแทบหัวระเบิดว่า ไอ้หมอนี่ ท่าทางมันเพี้ยน 
มันจะเอาผ้าที่ม้าหรือแพะขี้รดในคอกไปทำอะไรกันวะ 
มันเป็นผ้าเช็ดตีนเช็ดรองเท้าบู๊ทตอนที่เขาก้าวออกมาจากคอกม้า 
และความแข็งโป๊กของมันก็ใช่ว่าจะช่วยให้ตีนหรือพื้นรองเท้ามันสะอาด 
 
แล้วพวกเขาก็พากันหัวร่องอหายแทบจะสำลักไวน์แดงตายลงตรงนั้น!!
 
 
แต่ขอโทษ-ในความรู้สึกของคนเก็บขยะ เขาหมั่นไส้ รู้สึกอยากถีบหน้าแงคนพวกนั้น!! 
แต่ก็ต้องข่มความรู้สึก เพราะสังคมระบบ “ศักดินา” ที่บูชากรอบประเพณีเป็นสัจจะแห่งชีวิต 
ทำให้ชนชั้นล่างอย่างเขาไม่อาจเผยอตาอ้าปากเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม 
ใครที่พยายามเปลี่ยนแปลงกรอบถือว่าเป็นขบถและบาปมหันต์!! อาจถูกจับขังทรมาน
โหดร้ายไหม?
 
 
แม้กระทั่งเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ ที่ถือกันว่าเป็นสิ่งภายนอก พวกเขาก็ยังแบ่งชนชั้น
 
 
แน่นอน... การกำเนิดของยีนส์ มาจากมันสมองของคนใช้แรงงานอย่างยอดชายนายลีวายส์ สเตราท์ 
พวกเขาถือว่าเป็นคนละชนชั้นกับเขา พวกเขาย่อมหวงแหนอัตตาที่ตนเชื่อมานานอย่างแน่นแฟ้น 
พวกเขาบอกว่า ยีนส์เป็นสิ่งไม่สุภาพ เป็นสัญลักษณ์แห่งกากเดนของชนชั้นต่ำ 
พวกเขาจะไม่ยอมให้มันเผยอหน้าขึ้นมาเทียบเคียงแฟชั่นราคาแพงบัดซบของพวกเขาบนศูนย์การค้าประดับประดาความศิวิไลซ์
 
ระยำที่สุด!!
 
 
ในบางประเทศที่ยึดถือขนบเคร่งครัด พวกเขาถึงกับบอกว่า คนใส่ยีนส์เป็นพวกมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ 
และตำรวจอาจลากคอคนใส่ยีนส์ด้วยข้อหาหมั่นไส้ที่ใส่กางเกงไม่เหมือนชาวบ้าน
 
แต่บุคคลิกของยีนส์มันเย่อหยิ่งเกินกว่าคนหัวโบราณเหล่านั้นจะทำอะไรมันได้
 
พวกเขาแน่ใจหรือว่า กำแพงแห่งชนชั้น (The Wall) ที่พวกเขาก่อขึ้นมาจะคงทนต่อกำแพงแห่งกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนอยู่ทุกวินาที
สังคมศักดินาสวมหน้ากากของพวกเขา กำลังถูกใครบางคนปีนป่ายขึ้นไป 
พร้อมด้วยมีดคมกริบและเลื่อยไฟฟ้า เพื่อเลาะตะเข็บ ตัดสายโซ่ที่สนิมแห่งความเก่าจับเขรอะ 
อีกหลายคนปีนตามมาอย่างสุขุม ค่อยๆริดรอนเส้นขน เล็บ ผิวหนัง แขน ขา นิ้วร้ายทั้งหมด 
มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีเข็มนาฬิกาแห่งความยินดี ยืนให้กำลังใจ 
แน่นอน คนกล้าเหล่านั้น พวกเขาใส่กางเกงยีนส์โว้ย!!
 
 
เข็มนาฬิกากระดิกตัวเองต่อมา
 
 
ไม่มีใครสักคนหรือแม้แต่พระเจ้า ก็ไม่อาจทำนายได้ว่า ยีนส์จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันครองโลกใบนี้ 
จากกางเกงที่กรรมกรสวมใส่ มันเริ่มระบาดเข้าไปสู่มหาวิทยาลัย 
พวกเขาเริ่มเรียกร้องให้ผู้บริหาร อนุญาตให้ใส่กางเกงยีนส์เข้าห้องเรียน 
ด้วยเหตุผลว่า มันทนทาน ใส่สบายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องซัก ไม่ต้องรีด ไม่เปลืองไฟ ไม่เปลืองน้ำ 
ในชั่วโมงเร่งรีบมันคือเพื่อนคู่ใจที่ทำให้ไปเรียนทันเวลา 
พวกเขาไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งว่า ใครใส่ยีนส์แล้วจะเป็นคนเลวคนดี 
ถ้า ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง ใส่ เขาจะเป็นคนเลวอย่างนั้นหรือ
 
 
และถ้ารัชทายาทบางองค์ในราชวงศ์กษัตริย์ของยุโรป เกิดพิสมัยยีนส์ขึ้นมา 
เราจะกล้าว่า องค์รัชทายาทสูงศักดิ์เหล่านั้นลดตัวลงมาเหลือกกลั้วกับชนชั้นล่างอย่างนั้นหรือ
 
 
เกิดต่อสู้กันของความคิดระหว่างชนชั้นสูงที่มองยีนส์เป็นเศษขยะแฟชั่น เป็นกางเกงสวะที่พวกเขาจะถุยน้ำลายใส่ 
กับชนชั้นกรรมาชีพที่หาเช้ากินเช้า แบกโบกถังปูนสร้างตึกให้พวกผู้ดีเลือดสีน้ำเงิน
 
 
ดำเนินมาจนถึงยุค 60 
ยุคที่เกิดขบวนการปัญญาชนคนฮิปปี้ขบถสังคมครอบครัวพ่อแม่ 
ปฏิเสธระบบการศึกษาที่เอาแต่ท่องตำราเรียนในมหาวิทยาลัย เดินวนไปเวียนมาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคับแคบ 
ในขณะที่โลกภายนอกคือตำราอันยิ่งใหญ่ และพระเจ้าได้สร้างตัวแทนยีนส์ขึ้นมาผ่านสรีระของดาราร็อคผู้อหังการ์อย่าง Mick Jacker ร็อคจอมขบถแห่งวงหินกลิ้ง The Rolling Stone นั่นเอง
และแม้แต่ The Beatles ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนฝ่ายพระเจ้า (เดอะ โรลลิ่ง สโตนส์เป็นฝ่ายซาตาน) 
พวกเขาแต่งตัวสะอาดเรี่ยมแร้เรไรในยุคแรก แต่ในที่สุดก็ทนความเย้ายวนของผ้าสีน้ำเงินเข้มไม่ไหว 
เดอะ บีทเทิลส์ยุคสุดท้ายจึงไว้ผมฮิปปี้ยาวรุงรัง ใส่ลีวายส์ป้ายส้มสวยสะใจ 
โดยเฉพาะจอห์น เลนน่อน และยอร์จ แฮริสัน ใส่ยีนส์ลีวายส์ป้ายส้มขาม้าได้สวยมาก
 
 
The Eagles เป็นอีกวงหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับในการใส่ “ยีนส์” และเสื้อ “ยืด” ได้เท่ระเบิด Fleet Wood Mac 
แต่คนที่มาทำให้ยีนส์กลายเป็นสัญลักษณของชนชั้นกรรมาชีพใช้แรงงานได้ด่นชัดคือ The Boss Bruce Springsteen 
อัลบั้มชุด Born In The USA ถือเป็นการโฆษณายีนส์ลีวายส์ป้ายแดงที่ได้ผล 
ว่ากันว่า ยุคนั้นลีวายส์ผลิตยีนส์ป้ายแดงออกสู่แทบจะไม่ทัน
 
 
ตั้งแต่นั้นมายีนส์กับนักดนตรีร็อคจึงแต่งงานและเสพสังวาสเสพเมถุนกันเตียงหักบรรลัยวายวอด !! 
และยุค 60 เป็นยุคของการเดินขบวนประท้วง ต่อต้านสงคราม ต่อต้านกฏเกณฑ์สังคมอันเก่าแก่คร่ำครึ สิทธิมนุษยชน 
ค่าแรงงาน มองมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน และที่ไหนมีการประท้วง ที่นั่นจะมียีนส์ 
มาถึงตรงนี้ ยีนส์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม
 
 
สำหรับในเมืองไทยของเรา 
การดูถูกยีนส์ไม่ร้ายแรง ถือว่าเป็นความไม่เข้าใจมากกว่า 
การเข้ามาของยีนส์ถือว่าเป็นการค่อยเริ่มๆ โดยมาจากทหารอเมริกันจีไอนั่นแหละ
 
 
ประมาณปี 2514 เป็นยุคที่กางเกงทรง “เดฟ” ผ้ามันกำลังฮิตระเบิดเถิดเทิง 
ใส่กับเสื้อเชิร์ทแอร์โร่ว์แขนสั้นที่ตัดชายด้านหลังให้โค้งคลุมตูด ปกเชิร์ทติดกระดุมตั้ง และต้องใส่กับรองเท้า “หุ้มข้อ” สีขาว 
ซึ่งยี่ห้อที่ฮฺตสุดตอนนั้นคือ Olympic 
ถ้าเป็นหุ้มส้นต้องเป็นยี่ห้อ US Master 
และถ้าจะให้เจ๋งต้องใส่กับถุงเท้า “สีแดง” หรือสีอะไรก็ได้ที่มันมีสีสันแสบตา 
ทรงผมแสกกลาง เป็นยุคที่แฟชั่นมีสีสันเป็นอย่างยิ่ง
 
 
สมัยก่อนจะมีสถานที่มาอวดมาประชันกันตามศูนย์การค้า (อินทราประตูน้ำดังสุด ราชดำริอาเขต ไดมารู ค๊อฟฟี่ ช็อพ 
เดฟผ้ามันลีวายส์สีทอง เย็บขาให้ลีบสุดคือ 8 นิ้ว ถุงเท้าแดง โอลิมปิคหุ้มข้อสีขาว เสื้อแอร์โร่ตัวโคร่ง 
หะโหย ยืดโคตรๆ 
ยิ่งตามอำเภอต่างจังหวัด มีงานวัด มีเวทีรำวง แต่งตัวประชันกันมันส์สุดตีน 
ใครเจ๋งสุดสาวๆก็จะเหลียวมอง และยิ่งได้ท่าเต้นรำวงที่กวนตีน 
ก็จะเสี่ยงจากการโดนตีน หรือโดนกระทืบเพราะความกวนตีนนั่นแหละ
 
 
การมาถึงของ “เดฟนักรบ” ผ้ามันส์ ทำให้ยีนส์ในประเทศไทยไม่อาจเผยอหน้าขึ้นมาบนถนนแฟชั่นได้ 
มีนักเรียนนอก ผู้ดีมีเงินบางกลุ่มเท่านั้นที่พยายามนำยีนส์มาอวดสายตา 
แต่พวกเขาก็เสี่ยงจากการถูกมองว่า เป็นกางเกงของพวกกรรมาชีพ พวกยกของ แบกปูน
 
 
หลังการหายไปของเดฟ 
มาถึงการคาบเกี่ยวของ “ม็อดนักรัก” กางเกงขาบาน ทรงสูง กับรองเท้าส้นตึก หัวใหญ่เทอทะเท่าสะพานกรุงเทพ 
ใครที่อายุสัก 45-50 ตอนนี้ จะนึกภาพวงดนตรี The Impossible ออกนะครับ เป็นวงที่ใส่กางเกงทรงม็อดได้สวยทุกคน
 
 
ยีนส์ในบ้านเรามาได้รับความนิยมคล้ายๆกับขบวนการนักศึกษาในต่างประเทศ 
คือการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจากพวกทหาร การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 
เหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ถือว่าเป็นการประกาศชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพโดยมีขบวนการนักศึกษาเป็นหัวหอก 
และยีนส์คือสัญลักษณ์การต่อสู้ของปัญญาชนร่วมกับขบวนการชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร ในนามลัทธิสังคมนิยม 
ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสท์แห่งประเทศไทยเป็นตัวผลักดัน
 
 
ยุค 60,70,80 ถือเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองอย่างแท้จริงของยีนส์ 
และแน่นอน....ยีนส์ที่ยืนหยัดอยู่แถวหน้าอันดับ 1 คือ Levi’s
 
 
 
แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ลีวายส์โดนยีนส์ ที่มีอิมเมจ “ผู้ดี” อย่าง Calvin Klein ตีตลาดกระจุยกระจาย 
เพราะคาลวิน ไคล์น ลงทุนเอาดาราสาววัยรุ่นที่กำลังฮอตสุดๆ
ในยุคนั้น บรุ๊ค ชีลด์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และเธอสร้างความฮือฮากับประโยคโฆษณาที่ว่า
“ไม่มีอะไรขวางกั้นสำหรับยีนส์กับผิวหนังของดิฉัน”
 
 
นอกจากคาลวิน ไคล์น ก็มี Jordache ตราหัวม้า,
Lois (ยีนส์จากสเปน) Lee,Hara,Wrangler,Lightman 
และยี่ห้อโนเนมที่พยายามเลียนแบบยี่ห้ออื่นด้วยการเปลี่ยนอักษรเช่น Bee,Levei
 
 
ศาสตราจารย์ ชาร์ล ริช (Charles Rich) แห่งมหาวิทยาลัยเยล Yale ในอเมริกากล่าวว่า
“ยีนส์เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ยุคนี้”
 
 
วอลเตอร์ เอ. แฮสส์ (Walter A.Haas) ประธานกรรมการบริษัทลีวายส์ สเทราส์ กล่าวว่า 
“ยีนส์ เป็นตัวแทนของการดำรงชีวิต ซึ่งปัจจุบันได้ยอมรับกันทั่วโลกแล้ว” 
ยีนส์ กลายเป็นผิวหนังที่สองของมนุษยชาติไปเสียแล้ว
 
 
ยีนส์- ถ้าคุณชอบยีนส์ เราคือนายทุน
 
นายทุนก็คือนายทุน เมื่อยีนส์ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก 
เจ้าฟ้าหญิงแอนด์ ประธานาธิบดีเจ้าของไร่ถั่วลิสง จิมมี่ คาร์เตอร์ ประกาศว่า เขาจะใส่ยีนส์ไปทำงานที่ทำเนียบขาว 
เจ้าฟ้าหญิงแอนด์ ใส่เตรียมเข้าพิธีอภิเษกสมรส 
และมันชอนไชเข้าไปถึงชาวนาในป่าลึก ชาวสวนเฝ้าบ่มเพียรผลผลิตของเขา 
ด้วยหวังว่า เมื่อฤดูออกดอกผล จะมีกำไรเอาเงินไปซื้อกางเกงยีนส์สวยๆในตลาดอำเภอ
 
 
แน่นอน... นายทุนที่จมูกไวเกี่ยวกับการค้า นำเงินมาลงทุนผลิตยีนส์ภายในประเทศ 
ผ้ายีนส์เดนิมของนายลีวายส์ ไม่จำเป็นต้องมาจากแคว้นบาวาเรียในฝรั่งเศสอีกต่อไป ใครๆต่างก็ผลิตผ้าเดนิมเองได้แล้ว
 
เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการจำแนก “เกรด” ของยีนส์
 
 
เมื่อมีการจำแนกเกรด ก็มีการจำแนกราคา และเมื่อมีการจำแนกราคา 
ปรัชญาที่เข้มข้นของคนใส่ยีนส์ก็เปลี่ยนไป 
คือมันไม่ได้เป็นสัญลักษ์ของการต่อสู้ของชนชั้น แต่มันได้เริ่มเข้าสู่วงจรของแฟชั่น ธุรกิจอย่างเต็มตัว 
เป็นแฟชั่นที่เฉิดฉาย หลายหนที่มันเป็นตัวแทนของเซ็กส์แบบสามานย์ 
เค้าโครงเดิมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้การทำงานหนักค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา
 
 
ถึงแม้การแข่งขันยีนส์จะสูง ทุ่มเม็ดเงินโฆษณากันบ้าคลั่ง มียี่ห้อใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา 
ว่ากันว่า ในยุคยีนส์เฟื่อง มียีนส์ยี่ห้อใหม่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นหมื่นๆยี่ห้อ
แต่อะไรก็ตามที่มันมากเกินความจำเป็น ก็ย่อมเป็นไปตามกลไกของตลาด 
เหมือนจตุคามรามเทพ!!
แต่ก็เป็นผลดี สำหรับการพิสูจน์ว่า ใครคือของแท้
 
 
ท่ามกลางยีนส์ร้อยพ่อพันธุ์แม่ที่กองพะเนินเป็นเศษผ้าเช็ดตีน 
แต่ “ของแท้” อย่างลีวายส์ กลับตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ 
จากยุคลีวายส์ฮิปปี้ส์กับดนตรี ไซคีเดลิค ขาม้าป้ายส้ม มาถึงดนตรีร็อคและเฮฟวี่ เมทัล 
การมาถึงของลีวายส์หมายเลข 501 กลายเป็นความคลั่งไคล้ที่แพร่ระบาดรวดเร็วราวไข้หวัดนก 
เอกลักษ์ของ 501 คือการย้อนกลับไปหาของเดิมที่คลาสสิคคือ “กระดุม” เนื้อทรายที่ขึ้นลายสวยจับจิต 
ตะเข็บข้างเป็นสันปูดโปนเป็นลอนสูงต่ำ คนดำ คนขาว คนเหลือง ใส่แล้วเท่ ทันสมัย ไม่ตกกระแสแฟชั่น
 
 
การเริ่มต้นของรุ่น 501 ทำให้ นักเล่นยีนส์หันตามรุ่นหายาก ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแบบไม่มีกฏเกณฑ์ 
แต่เป็น “กลยุทธ์” ที่ซุกซ่อนอยู่ในสมองพ่อค้าหัวใส โดยเฉพาะคนไทยและญี่ปุ่น 
ที่พูดกันติดริมฝีปากนักเล่นก็คือ รุ่น “บิ๊กอี” (Big E) หมายถึงตัวอีในภาษาอังกฤษ 
แทนที่คำว่า Levi’s จะสะกดด้วยอักษรอีตัวเล็ก แต่สะกดเป็นตัวใหญ่ E เป็น LEVI’S 
หรือรุ่นที่มีป้ายประทับตราตัว X บางรุ่นก็ประทับตรา XX 
พ่อค้าหัวใสก็เอาไปเป็นการต่อรองกับนักเล่นว่า ดับเบิ้ลเอ็กซ์หายาก แพงโคตร ไปจนถึงรุ่น “ริมแดง”
 
 
ซึ่งก็คือยีนส์ตัวแรกและตัวสุดท้ายของผ้าล็อตนั้นที่ถูกส่งเข้าโรงงาน อันที่จริงมันเป็นกลยุทธ์จิตวิทยาเบื้องต้นง่ายๆของสันดานมนุษย์นี่แหละ 
คืออะไรก็ตามที่มันเป็น “อันแรก” และ “อันสุดท้าย” คนเราก็มักจะเกิดความภาคภูมิใจว่า "กูได้มาก่อนใคร" 
หรือการเหลืออันสุดท้ายยิ่งโคตรภูมิใจ เพราะมันไม่มีรุ่นนั้นอีกแล้ว
พวกพ่อค้าเลยได้โอกาส “ปั่นราคา” เอาเงินไปแดกเบียร์เบิกบาน!!
 
 
ต่อมาก็เลยกลายเป็นกลยุทธ์ที่พ่อค้าหัวใสนำมาหากิน เช่นติดป้ายโฆษณาว่า รุ่นป้ายหนังรุ่นสุดท้าย (ปกติป้ายหลังของลีวายส์จะเป็นปะเก็น) 
หรือบางร้านโฆษณาว่า “ถ้าจะซื้อของปลอมอย่าเดินเข้ามาร้านนี้” 
แต่ไอ้ห่า นั่นล่ะของปลอมทั้งร้าน!!
เอาเป็นว่า ในโลกนี้ ไม่มีพ่อค้าชาติใด หัวใสเท่าพ่อค้าไทย
 
 
แต่รุ่นหายากจริงๆก็ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ แต่คนที่รู้จะต้องเป็นคนที่ศึกษาเรื่องยีนส์จริงๆ 
อย่างเช่นคุณ “เต็งโก้” หรือพันยุทธ์ สุ่มจินดา นักเขียนขี้เมาที่เขียนตำราเกี่ยวกับยีนส์มาหลายเล่มแล้ว 
ผมเคยไปถ่ายทำสารคดีสั้นที่สวนจตุจักร ที่คุณเต็งโก้แกขายอยู่ ก็ได้เห็นยีนส์ลีวายส์รุ่นแรกที่แพงที่สุดที่คุณเต็งโก้เก็บเอาไว้
ราคามันแพงถึง หนึ่งแสนบาทเลยทีเดียว เป็นรุ่นผ้าแข็งโป๊กรุ่นแรกๆที่นายลีวายส์ สเทราส์ นำผ้าเตนท์มาตัดนั่นแหละ
 
 
มาถึงบรรทัดนี้ขออนุญาตแนะนำให้ไปหาหนังสือ “ตำนานยีนส์”
ของท่านเต็งโก้มาอ่านประเทืองปัญญาจารึกลงบนกะโหลกหนาๆจะดีกว่า 
ละเอียดกว่าผมเขียนเยอะ ของผมมันแค่ที่มาที่ไปเท่านั้น
 
 
ตำนานยีนส์เล่มนั้น เรียกว่าแก้ผ้าเปลือยเปล่ากันเลยทีเดียว ผมเก็บเอาไว้อ่านยามที่กำลังท้อแท้ หรือหมดพลังงาน 
และเนื่องจากผมมียีนส์อยู่ในตู้เสื้อผ้าเป็นกะตั๊ก (ขายไปตอนตกงานปีฟองสบู่แตกประมาณ 500 ตัว) 
เวลาขี้เกียจมากๆหรือเบื่อตัวเองจนทนไม่ไหว ก็คว้ายีนส์สวยๆออกมาใส่ เพิมพลังออกไปเผชิญชีวิตข้างนอก 
เดี๋ยวรสชาติมันก็กลับมาเองแหละ
 
 
ยีนส์ในหลายๆครั้งในความหมายของผมคือสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ มันช่วยตกแต่งบุคคลิกของผมให้เฉิดไฉไล สาบาน!! 
 
ผมรักยีนส์ลีวายส์ยิ่งกว่าผู้หญิงดัดจริตตอแหลบางคน!!
 
 
ปัจจุบันวงการยีนส์ไม่ค่อยคึกคัก หรือไม่ค่อยจะเรื่องราวการเล่น “รุ่น” เท่าไหร่แล้ว 
เหตุผลไม่มีอะไรมาก โลกเปลี่ยน คนแปลง คลื่นลูกเก่าถดถอย คลื่นลูกใหม่ทะยอยถาโถม
 
 
ลีวายส์ไม่ใช่แชมป์ครองตลาดออีกต่อไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักลีวายส์ ขาม้า ป้ายส้มซูปเปอร์แบล็ค ริมแดง ดับเบิ้ลเอ็กซ์ 
และยอดขายของลีวายส์ตั้งปี 2004 เป็นต้นมา ลดลงอย่างน่าใจหาย 
และหายใจแผ่วพริ้วจนกระทั่งต้องปิดโรงงานทั้งหมดในอเมริกา สาเหตุคือยอดขายลดลง แต่ค่าแรงในโรงงานอเมริกาแพงเท่าเดิม
 
 
ในที่สุดลีวายส์ต้องย้ายกิจการไปตั้งโรงงานที่ประเทศจีน เพราะค่าแรงถูกกว่า 
และอย่าได้แปลกใจที่ปัจจุบัน สินค้าลีวายส์ที่เราๆท่านๆใส่กันจะมีตราข้างในติดป้ายว่า Made In China 
หรือบางรุ่นอย่าง Type1 ผลิตในฟิลิปปินส์ 
จะหาพวก Made In USA ไม่มีแล้ว
 
 
และลีวายส์รุ่นใหม่ๆถ้าไม่โดนใจวัยโจ๋ก็ขายยาก 
เพราะเด็กรุ่นใหม่ก็ก้าวไปพร้อมกับยีนส์รุ่นใหม่ๆ เช่น Mooks Clothing Co ยีนส์ดังจากออสเตรเลีย 
นอกนั้นก็มี Mambo,Quicksilver,Grab,Street Culture
ยีนส์จากยุโรปเช่น Gsus Sindustries ยี่ห้อนี้มาจากเนเธอร์แลนด์ 
Rifle ยี่ห้อนี้มาจากอิตาลี ความน่าใส่อยู่ที่กรรมวิธีฟอกสี เทคนิคการทำให้ยีนส์ยับยู่ยี่ 
แน่นอน..... ราคาควักกระเป๋าไม่ลงเหมือนกันถ้าไม่ใช่พวกเงินเหลือใช้
 
 
Take Two นี่ก็มาจากอิตาลี มีเอกลักษณ์ตรงใจวัยโจ๋รุ่นแรพเปอร์,ฮิปฮอป,เมทัลคอร์ มีกระเป๋าซุกอยู่ตามซอกหลืบมากมาย 
กระดุมเม็ดเท่าผลแตงโม 
วัยโจ๋บอกว่า ใส่แล้วมันไม่เหมือนใครดี
Gabba เป็นแบรนด์สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เนื้อผ้าละเอียด ยืดหยุ่น ผู้หญิงใส่แล้วเน้นสรีระ จินตนาการทะลุถึงไหนต่อไหน ซี๊ดๆๆๆๆ
 
 
มาที่ค่ายปลาดิบกันบ้าง 
เมื่อก่อนยี่ห้อ Big John ก็ใช่ย่อย โก๋เดฟนักรบยุคอำนวยศิลป์ยกพวกตีกันกับไทยยะ (มีมอตโต้ที่เท่มากพ่นบนกำแพงว่า ขาสั้นล่าขายาว!!)
ปทุมคงคา,ไทยวิจิตรฯ,ช่างอุต,เทคนิคบูรณะพนธ์,อินทราชัย,เทคนิคกรุงเทพ,อุเทน,ปทุมวัน,พระรามหก เหล่านี้ใส่บิ๊ก จอห์น ทรงขาลีบ 
ปัจจุบันญี่ปุ่นมี Evisu ดังระเบิดสุดขีดเพราะเลียม กาแลคเกอร์ ร็อคจอมซ่าแห่งโอเอซีส บอกว่าเป็นยีนส์ยี่ห้อโปรด
 
 
การหายไปของลีวายส์ ก็ใช่ว่ายีนส์ในอเมริกาจะหดหายนะครับ 
ยี่ห้อใหม่ที่มาแรงคือ 575 และเจ้าประจำที่ยึดครองหัวหาดวัยรุ่นคือ Diesel นอกเหนือจากนั้นก็มี Ben Sherman 
ยังมีอีกหลายพันยี่ห้อที่ปั๊มออกมาขายตามกระแสความนิยมของวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นพวกอินดี้ 
คือยีนส์เฉพาะกลุ่มของวัยรุ่น แต่ที่เหมือนกันคือ นิยมเทคนิคการกัดสีและขัดให้ดูเก่าคลาสสิคด้วยสารเคมี 
ขัดให้เป็นรอยขีดข่วน ยับย่น ไปจนถึงให้มันขาดตรงหัวเข่า หรือแก้มก้นตรงกระเป๋า 
การเพนท์สีหรือหาชิ้นส่วนอย่างอื่นมาตัดแปะให้ดูแตกต่าง
 
 
มาถึงวินาทีนี้ ยีนส์เดินทางมาไกลหลายล้านหมุดไมล์แล้ว
และมันก็ถูกประดิษฐ์ประดอย คิดค้นโดยมันสมองของดีไซด์เนอร์รุ่นใหม่ 
เพื่อให้ทันกับสถานการณ์แฟชั่นยุคใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ถ้าหากประโยคอมตะที่ว่า Rock n Roll Can Never Die ฉันใด Jeans ก็ฉันนั้น 
 
 
วันนี้คุณมีกางเกงยีนส์ใส่แล้วหรือยัง???!!
 
 
พายุหิน กูรู ผู้เขียน

ความคิดเห็น

วันที่: Thu Mar 28 23:30:24 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

 สนใจ ติดต่อ สิรวิชญ์  081-623-5868  mail: svcd4ads@gmail.com